คุยแล้วเปลี่ยน ทำอย่างไร?

การสนทนาเป็นกระทำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หากเราทำให้การสนทนาของเรามีพลัง เชื่อมความคิดและความสัมพันธ์ของทุกคน การสนทนานั้นก็จะนำไปสู่การลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน — นี่คือหัวใจของภาวะผู้นำเรียนรู้รวมสคล ใต้หมู่ที่ผู้เข้าอบรมทุกคนได้รับ

ในข้อเขียนนี้เป็นบันทึกเส้นทางการเรียนรู้ของคุณเจกะพันธ์ พรหมมงคล ที่ได้ทดลองนำกระบวนการ หลักการการสนทนาไปใช้กับงานของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคใต้ตอนบน


“ในการทำงานของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ภาคใต้ตอนบน จะมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งจะเป็นช่วงของการเขียนโครงการเพื่อรับงบประมาณสนับสนุนในการทำงาน โดยจะมีแต่ละช่วงคือ ช่วงกำหนดทิศทางการทำโครงการ ช่วงพัฒนาโครงการ ช่วงการสรุปโครงการฉบับสมบูรณ์ และนำเสนอโครงการ โดยในทุกช่วงของการทำโครงการ แน่นอนว่าจำเป็นต้องเกิดวงประชุมขึ้น โดยเฉพาะในปี 2559 ได้มีการประชุมมาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรกเกิดก่อนที่จะทีมของเราจะเข้ารับการอบรม และหลังจากที่เราเข้าการอบรมกับอาจารย์ชัยวัฒน์ เราก็มีประชุมกันอีก 2 ครั้ง และยังมีการประชุมในเองอื่นๆ อีก 2 ครั้ง

เราพบว่า หลังจากการเข้าอบรมกับอาจารย์ชัยวัฒน์ การประชุมของเราเปลี่ยนไป

การประชุมครั้งที่ 1 แต่ละคนยังคงวุ่นวายอยู่กับสิ่งเร้าอื่นๆ เช่น โทรศัพท์ การพูดคุยกันเอง ไม่ฟังของคนอื่น  ซึ่งต่างจากการประชุมอีก 2 ครั้ง ที่บรรยากาศในการประชุมเปลี่ยนไป ผู้เข้าร่วมประชุมนิ่งขึ้น ใส่ใจกับวงประชุมมากขึ้นทั้งเรื่องการฟัง การตั้งคำถาม และช่วยกันเสนอแนะ

ทั้งนี้เนื่องจากการประชุม 2 ครั้งหลัง ผู้ที่ผ่านการอบรมชุดวิชา ครั้งที่ 1 มีทั้งหมด 5 คน จากแกนหลักทั้งหมด 9 คน  โดยแยกเป็นศูนย์ภาค 3 คน ประชาคมจังหวัด 2 คนจากทั้งหมด 6 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมอบรม โดยหลังจากการอบรม เราเกิดข้อตกลงร่วมกันว่า จะสร้างการประชุมของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคใต้ตอนบนให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ภายใต้การสร้างข้อตกลงร่วมกัน และเลือกที่จะใช้การสนทนาแบบให้เกิดการครุ่นคิด ใคร่ครวญ และลึกซึ้ง และเน้นการช่วยกันตั้งคำถาม แต่ไม่ให้ใครต้องรู้สึกว่าเป็นผู้ผิด

ในการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในการประชุม สิ่งที่ดำเนินการคือ การสร้างกติกาหรือข้อตกลงร่วมกัน เช่นการงดใช้โทรศัพท์มือถือ การอยู่ร่วมประชุมครบเวลา และการร่วมคิด ร่วมทำ ไปพร้อมๆกัน ในรูปขบวน และการรักษาเวลาในการประชุม โดยแกนหลักในการประชุมเองก็เกิดการตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งของตนเองและของคนอื่น

ผลสำเร็จจากการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในการประชุมคือ โครงการของแต่ละจังหวัด มีการออกแบบตามบริบทของตัวเอง มียุทธศาสตร์ของตัวเอง มีกลยุทธ์เฉพาะ มีกิจกรรมที่สอดคล้องกัน และมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ มีการออกแบบงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสามารถผลักดันให้จังหวัดภูเก็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ประสานงาน โครงการไม่มีประสิทธิภาพ จนเกิดผู้ประสานงานคนใหม่ และมีโครงการรับงบสนับสนุนต่อเนื่อง

โดยสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดผลสำเร็จคือ ผู้ที่เข้าอบรมก็มีความรู้สึกเบื่อกับการประชุมแบบเก่า คือประชุมเพื่อประชุม ไม่ได้ผลลัพธ์หรือเกิดการพัฒนาใดๆ ทั้งสิ้น และมองว่าเสียเวลามากมายไปกับการประชุม แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือมองว่าพูดไปก็ไม่มีใครฟัง ทำให้คุณภาพใหม่ๆไม่เกิดจากการประชุมแบบเดิม

โดยทิศทางต่อไปหลังจากการอบรมในแต่ละครั้ง ผู้ที่เข้าร่วมคงต้องมีการสรุปการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อออกแบบการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับเครือข่าย รวมทั้งการทบทวนข้อตกลงหรือกติกาทุกครั้ง และทำซ้ำๆ จนเกิดความเคยชิน

This entry was posted in บันทึกการเรียนรู้ และการนำไปใช้ and tagged , , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment