เกี่ยวกับโครงการ

โครงการพัฒนาภาวะผู้นำองค์กรเพื่อสังคมสุขภาวะและนักปฏิบัติการทางสังคม  พ.ศ. 2558-2560

สังคมไทยและโลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยวิกฤติอันซับซ้อน การเผชิญหน้าและรับมือกับปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิมยากกว่าเดิมจำเป็นต้องใช้สติปัญญาและความร่วมมือร่วมใจของผู้คนจำนวนมากพอ ซึ่งต้องมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันกับผู้อื่น นั่นคือ มีภาวะผู้นำที่จิตใจเปิดกว้างพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายโดยมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสังคมสุขภาวะ

ภาวะผู้นำแบบใหม่นี้ต้องอาศัยการฝึกฝนที่ทำให้ปัจเจกบุคคลพัฒนากระบวนทัศน์แบบใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ ทักษะแบบใหม่ขึ้นมาในตัว และต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันแบบชุมชน เครือข่ายกัลยาณมิตร เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำแบบรวมหมู่ (collective leadership) อันนำไปสู่ภาวะการนำแบบใหม่ที่มีคุณลักษณะของความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนทำงานในองค์กรและระหว่างองค์กร ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงมากกว่าภาวะการนำแบบเดี่ยว

จาก “รายงานการสำรวจหลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำในประเทศและต่างประเทศ” โดยโครงการเครือข่ายพัฒนาภาวะผู้นำแห่งองค์กรและสังคม ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีพ.ศ. 2557 พบว่า หลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำในประเทศไทยโดยมากมุ่งเน้นการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารคนและงานเป็นหลัก ในขณะที่แนวโน้มในต่างประเทศมุ่งไปที่กระบวนทัศน์การพัฒนาภาวะผู้นำแบบใหม่ นั่นคือ เน้นไปที่การหนุนเสริมศักยภาพบุคลากรในภาคประชาสังคมมากขึ้น

เดวิด แมธธิวส์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเคทเตอริงและผู้นำเสนอแนวคิดประชาธิปไตยที่มีวิจารณญาน  (Deliberative Democracy) ที่มีอิทธิพลมากต่อกระบวนการสมัชชาสุขภาพและสมัชชาปฏิรูป ก็เน้นย้ำให้ความสำคัญต่อแนวทางการสร้างผู้นำในกระบวนทัศน์แบบใหม่นี้ โดยให้เหตุผลว่า กลไกในโครงสร้างอำนาจแบบเดิม แม้จะเป็นในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่อาจรับมือกับวิกฤตที่มีความซับซ้อนและอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรง ดังปรากฏการณ์พายุแคทรีนาถล่มรัฐนิวออร์ลีนส์ ในปี พ.ศ. 2548 น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ฟุกุชิมาในปี พ.ศ. 2556 ทว่า กลไกเครือข่ายของพลเมืองและองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากกลับสามารถสร้างความร่วมมือและขยายความช่วยเหลือรองรับวิกฤติการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การหนุนเสริมพัฒนาภาวะผู้นำในบุคลากรภาคประชาสังคมให้มีความสามารถที่จะรวมตัวกันและปฏิสัมพันธ์กันผ่านพื้นที่เครือข่ายเพื่อให้เกิดปัญญาความรู้ใหม่ๆ ที่รับมือกับปัญหาและวิกฤติใหม่ๆ ได้  จึงเป็นเรื่องจำเป็น